Marne, First Battle of

ยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑

​​     ​​ยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑ เป็นการรบครั้งสำคัญในแนวรบด้านตะวันตกในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ที่ใช้เวลาสั้น ๆ เพียง ๑ สัปดาห์ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔ แต่สามารถพลิกโชคชะตาของประเทศคู่สงครามและเปลี่ยนโฉมหน้าการรบแนวรุกที่เน้นการเคลื่อนไหวของกำลังพลอย่างรวดเร็วมาเป็นการรบแนวตั้งรับที่เน้นการตรึงกำลังอยู่กับที่ในสนามเพลาะ เป็นจุดเริ่มต้นทำให้สงครามต้องใช้เวลายาวนานเกินความคาดหมาย
     สงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นจากสาเหตุที่ซับซ้อนและสะสมต่อเนื่องในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ โดยมีมหาอำนาจ ๒ ฝ่ายเผชิญหน้ากันได้แก่ฝ่ายมหาอำนาจสัมพันธมิตร (Allied Powers) ประกอบด้วยฝรั่งเศส อังกฤษ และ รัสเซีย กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ประกอบด้วยเยอรมนีออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี มหาอำนาจทั้ง ๒ ฝ่ายนี้มีพันธมิตรเพิ่มจำนวนขึ้นเมื่อการเผชิญหน้าทวีความรุนแรงและขยายตัวกว้างขวางออกไป โดยเฉพาะในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งได้เกิดวิกฤตการณ์เป็นการรบหลายครั้ง จนล่าสุดเมื่อออสเตรียฮังการีประกาศสงครามกับเซอร์เบียในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ เยอรมนีได้ให้การสนับสนุนออสเตรียฮังการีอย่างเต็มที่ ขณะที่รัสเซียก็แสดงท่าทีสนับสนุนเซอร์เบียเช่นกัน ในวันที่ ๑ สิงหาคม เยอรมนีประกาศสงครามกับรัสเซีย ฝรั่งเศสในฐานะประเทศพันธมิตรรัสเซียจึงประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ ๓ สิงหาคม โดยมีอังกฤษให้การสนับสนุน ขณะที่ อิตาลียังไม่ได้แสดงท่าทีชัดแจ้งต่อกลุ่มอำนาจของตน อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๔ สิงหาคม ก็ปรากฏแน่ชัดว่ากองกำลังของแต่ละฝ่ายได้เริ่มเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในแนวรบหลายด้านภายในทวีปยุโรป จึงถือว่าสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในวันนั้น
     ในช่วงแรกของสงคราม ออสเตรีย-ฮังการี รับผิดชอบแนวรบด้านตะวันออกโดยเฉพาะการรบในคาบสมุทรบอลข่านโดยมีกองกำลังส่วนน้อยของเยอรมนีให้การสนับสนุน ขณะที่ เยอรมนีมีภาระหลักในช่วงที่รัสเซียอยู่ระหว่างการเตรียมการรบรับผิดชอบในแนวรบด้านตะวันตก ซึ่งกำหนดว่าจะปฏิบัติการตามแผนชลีฟเฟิน (Schlieffen Plan)* ที่ จอมพล เคานต์อัลเฟรด ฟอน ชลีฟเฟิน (Alfred von Schlieffen)* ได้วางแผนไว้ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๕ เมื่อเกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มประเทศมหาอำนาจยุโรป ตามแผนการดังกล่าว หากกลุ่มมหาอำนาจกลางต้องทำสงครามกับกลุ่มมหาอำนาจพันธมิตรจะต้องหลีกเลี่ยงการทำสงคราม ๒ แนวรบพร้อม ๆ กันทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก ยุทธวิธีที่ดีที่สุดคือเยอรมนีในฐานะผู้นำกลุ่มอำนาจนี้จะต้องทุ่มเทสรรพกำลังเผด็จศึกประเทศคู่สงครามในแนวรบด้านตะวันตกให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งประเทศคู่สงครามที่สำคัญของแนวรบด้านนี้คือฝรั่งเศส และการจะสยบฝรั่งเศสได้ต้องเข้ายึดกรุงปารีสให้ได้ในเวลาอันสั้นโดยเยอรมนีต้องฝ่าด่านแนวรบที่สำคัญ ๒ ด้าน คือ ด้านเหนือผ่านประเทศเบลเยียมซึ่งมีนโยบายเป็นกลางอย่างถาวร (permanent neutrality) ซึ่งได้รับการค้ำประกันจาก ประเทศมหาอำนาจตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๓๙ เข้าสู่ดินแดนทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณลุ่มน้ำเอน (Aisne) และลุ่มน้ำมาร์นเพื่อมุ่งตีโอบกรุงปารีสทางด้านเหนือ ด้านตะวันตก และด้านใต้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งเยอรมนีต้องเปิดแนวรบด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสผ่านแคว้นซาร์ (Saar) อัลซาซ (Alsace) และลอแรน (Lorraine) ของเยอรมนีเข้าสู่ฝรั่งเศสทางด้านใต้ของแม่น้ำมาร์นเพื่อตีโอบปารีสจากด้านตะวันออก หลังจากนั้นด้วยกำลังรบถึง ๖๘ กองพลเยอรมนีหวังที่จะเผด็จศึกฝรั่งเศสในยุทธการทำลายล้างให้สิ้นซาก (battle of annihilation)
     ในระยะ ๑ เดือนแรกของสงคราม ปฏิบัติการตามแผนชลีฟเฟินประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยกองทัพเยอรมันสามารถบุกเข้ายึดครองเบลเยียมภายในเวลา ๒ สัปดาห์เศษ ในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ กองทัพที่ ๑ ของเยอรมนีภายใต้การนำของนายพล อะเล็กซานเดอร์ ฟอน คลุค (Alexander von Kluck)* ก็เดินทัพเข้าสู่กรุงบรัสเซลส์นครหลวงของเบลเยียม แม้อังกฤษจะส่งทหารจำนวนหนึ่งมาช่วยแต่ก็ไม่อาจต้านทานการรุกไล่ของฝ่ายเยอรมันได้ เบลเยียมต้องยอมจำนนซึ่งทำให้กองทัพเยอรมันพร้อมที่จะปฏิบัติการใน ยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)*
     เมื่อเริ่มยุทธการที่ฝรั่งเศส เยอรมนีใช้กองทัพที่ ๑ จากเบลเยียมบุกตะลุยแนวชายแดนภาคเหนือขณะที่กองทัพที่ ๒ ซึ่งมีนายพลคาร์ล ฟอน บือโล (Karl Von Bülow) เป็นผู้นำเข้าโจมตีแนวชายแดนด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือด้วยกำลังพลรวม ๑.๕ ล้านคน พร้อมอาวุธหนักลำเลียงโดยผ่านระบบการขนส่งทางรถไฟที่แม้จะช้าแต่ก็มีประสิทธิภาพล้ำยุคในขณะนั้น การวางแผนการรบและการปรับกำลังพลระหว่างปฏิบัติการอยู่ในความรับผิดชอบของนายพลเฮลมุท ฟอน มอลท์เคอ ผู้หลาน (Helmuth von Moltke the Younger) หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารซึ่งบัญชาการอยู่ที่กรุงเบอร์ลินนครหลวงของเยอรมนี สำหรับฝรั่งเศสนั้นมีจอมพล โชแซฟ ชาก-เซแซร์ชอฟร์ (Joseph Jacques-Césaire Joffre)* หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารบัญชาการรบ ตามแผนที่ ๑๗ (Plan XVII) ซึ่งกำหนดให้กองกำลังทั้งหมดประมาณ ๑.๒ ล้านคน แบ่งเป็น ๕ กองทัพ ใช้วิธีการรุกไล่กองทัพเยอรมันตลอดแนวชายแดนด้านเหนือ ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตั้งความหวังว่าจะสามารถตีตะลุยให้กองทัพเยอรมันแตกพ่ายโดยเฉพาะตามแนวชายแดนด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อยึดดินแดนอัลซาซและลอแรนที่เคยเป็นของฝรั่งเศสกลับคืนมาให้ได้ สำหรับการรบด้าน เหนือและตะวันตกจะมีกองกำลังรบนอกประเทศของอังกฤษ (British Expeditionary Forces - BEF) ภายใต้การนำของเซอร์จอห์น เฟรนช์ (John French) เข้าช่วย กองกำลังนี้แม้จะมีขนาดเล็กด้วยกำลังพลเพียง ๑๐๐,๐๐๐ คน แต่ก็เป็นทหารอาชีพที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีทั้งหมด
     จากแผนการรบของทั้ง ๒ ฝ่ายในยุทธการฝรั่งเศสระยะแรกปรากฏว่ามีการประจัญบานอย่างดุเดือดตามแนวชายแดน ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างหนักแก่ทั้ง ๒ ฝ่าย ฝรั่งเศสสูญเสียกำลังพลจำนวน ๔๐,๐๐๐ คนระหว่างวันที่ ๒๐-๒๓ สิงหาคม โดยเฉพาะวันที่ ๒๒ สิงหาคมวันเดียวสูญเสียถึง ๒๗,๐๐๐ คนซึ่งนับเป็น "วันนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส" การรบครั้งนี้มีชื่อเรียกว่า "ยุทธการตามแนวชายแดน" (Battle of the Frontiers) อย่างไรก็ดี แม้ฝรั่งเศสและอังกฤษจะพยายามรุกตามแผนที่ ๑๗ แต่ก็ไม่อาจกระทำได้ภายในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ฝรั่งเศสต้องปรับแผนการรบให้ถอยทัพเพื่อปรับกระบวนทัพใหม่ แต่ก็ถูกกองทัพเยอรมันรุกไล่อย่างรวดเร็วจากทุก ๆ ด้าน เยอรมนีสามารถยึดครองพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสไว้ได้ ทำให้กองทัพเยอรมันฮึกเหิมเพราะเห็นชัยชนะอยู่ใกล้แค่เอื้อม นายพลมอลท์เคอจึงปรับแผนชลีฟเฟินโดยให้ถอนกำลังบางส่วนของกองทัพที่ ๒ ไปสนับสนุนการรบในยุโรปตะวันออกและเห็นชอบให้กองทัพที่ ๑ ปรับแผนการเข้ายึดกรุงปารีสให้เข้าจากด้านตะวันออกโดยไม่ต้องตีโอบจากด้านอื่น ๆ และไม่ต้องรอการปฏิบัติการของกองทัพที่ ๒ การปรับแผนครั้งนี้นับว่านำผลเสียมาให้แก่ฝ่ายเยอรมนีในเวลาต่อมา เพราะทำให้พื้นที่ด้านตะวันตกและด้านใต้ของกรุงปารีสเปิดโล่ง อีกทั้งยังทำให้กองทัพที่ ๑ กับกองทัพที่ ๒ อยู่ห่างกันมากจนทำให้เกิดช่องว่างยากแก่การสร้างแนวป้องกัน
     ในวันที่ ๓ กันยายน กองทัพที่ ๑ ของเยอรมนีสามารถตั้งมั่นอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปทางตะวันออกเพียง ๒๔ กิโลเมตร กองทัพฝรั่งเศสได้รับคำสั่งให้ถอยเป็นแนวนอนขนานไปกับแม่น้ำแซน (Seine) ใต้แนวตั้งมั่นของกองทัพเยอรมัน ขณะที่กองทัพอังกฤษก็ล่าถอยตามลงมาในแนวตั้ง เพื่อคอยจังหวะที่เหมาะสม แต่ทั้งทหารฝรั่งเศสและอังกฤษก็อยู่ในอาการขวัญเสียและขาดกำลังใจเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นขณะเดียวกันกับที่รัฐบาลฝรั่งเศสพร้อมด้วยสมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ และชาวฝรั่งเศสประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คนได้อพยพออกจากกรุงปารีสทางด้านตะวันตกไปอยู่ที่เมืองบอร์โด (Bordeaux) ภายในระยะเวลาเพียง ๒ สัปดาห์นับแต่เริ่มยุทธการที่ฝรั่งเศส กรุงปารีสตกอยู่ในภาวะที่จะถูกยึดครองได้โดยง่าย ฝรั่งเศสสูญเสียทหารไปแล้ว ๓๐๐,๐๐๐ คน อังกฤษ ๒๗,๐๐๐ คน แต่เยอรมนีที่ อยู่ในฐานะได้เปรียบก็สูญเสียใกล้เคียงกับฝรั่งเศส การรบที่มุ่งชัยชนะอย่างรวดเร็วต้องอาศัยการรุกรบและการตอบโต้รุนแรงมีการเคลื่อนกำลังพลตลอดเวลา ทำให้กองทัพได้รับความเสียหายและบอบช้ำอย่างหนักเกินความคาดหมายของประเทศคู่สงคราม
     ขณะที่สถานการณ์กำลังอยู่ในภาวะคับขันนายพลชอฟร์ตัดสินใจปรับกระบวนทัพโดยเพิ่มจำนวนกองทัพให้มากขึ้น ลดขนาดให้เล็กลง พร้อมทั้งเปลี่ยนตัวแม่ทัพบางคน เพื่อให้กองทัพมีความคล่องตัวและการบัญชาการรบมีความฉับไวและมีประสิทธิภาพ สำหรับกองทัพอังกฤษก็ได้ลอร์ดฮอเรชีโอ คิชเนอร์ (Horatio Kitchener)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอังกฤษซึ่งเดินทางมาดูสถานการณ์อยู่ขณะนั้นเห็นชอบให้กองทัพ อังกฤษร่วมมือปฏิบัติการตอบโต้กองทัพเยอรมันต่อไปโดยจะเริ่มการโจมตีที่แม่น้ำมาร์นในตอนเช้ามืดของวันที่ ๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔ เพื่อขับไล่กองทัพที่ ๑ ของเยอรมันไปทางเหนือให้ข้ามแม่น้ำมาร์นไปให้ได้โดยเร็วที่สุด ขณะที่กองทัพที่ ๒ ของเยอรมันก็จะถูกขับไล่ไปจนใกล้ชายแดนตะวันออกให้มากที่สุดนับเป็นยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑ โดยปฏิบัติการครั้งนี้ไม่มีเวลาเรียกกำลังสำรองและปรับปรุงเส้นทางลำเลียง แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่ระบบรถไฟและถนนของฝรั่งเศสดีพร้อมยกเว้นในบางพื้นที่ ๆ อาจเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนกำลังพลอยู่บ้าง
     ยุทธการที่แม่น้ำมาร์นแม้กำหนดจะเริ่มปฏิบัติการเช้าวันที่ ๖ กันยายน แต่แท้จริงแล้วกองกำลังส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสที่อยู่รอบกรุงปารีสได้เข้าโจมตีปีกขวาของกองทัพที่ ๑ ของเยอรมนีตามแนวแม่น้ำอูร์ก (Ourcq) ในวันที่ ๕ กันยายน เพื่อเตรียมตีโอบกองทัพที่ ๑ จากด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ขณะที่กองทัพส่วนหน้าของฝรั่งเศสเริ่มปฏิบัติการตามแผนในวันที่ ๖ กันยายน กองทัพที่ ๑ ของเยอรมนีตอบโต้ในทันทีพร้อมทั้งต้องกระจายกำลังปีกขวาออกไปสะกัดกั้นการโจมตีในแนวรบด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้เยอรมนีต้องขยายแนวปะทะออกไปทางตะวันตกเกินความคาดหมาย กำลังทหารตลอดแนวรบของเยอรมนีจึงดูบางตา กองทัพฝรั่งเศสซึ่งมีกำลังพลมากกว่าประมาณ ๔ ต่อ ๓ จึงรุกไล่อย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่ก็ถูกโต้กลับอย่างฉับไวจากฝ่ายเยอรมนีเช่นกัน การรบที่แม่น้ำอูร์กใช้เวลา ๓ วันระหว่างวันที่ ๕-๗ กันยายน โดยไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบจนกระทั่งเมื่อกองทัพเยอรมันเริ่มเข้าใจอย่างแท้จริงถึงจุดมุ่งหมายของฝรั่งเศสที่ล่อกองทัพเยอรมันไปทางตะวันตก ทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้นระหว่างกองทัพที่ ๑ กับกองทัพที่ ๒ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นกองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษก็มุ่งเข้าอุดช่องว่างดังกล่าวโดยไม่มีคู่ต่อสู้ แม้ทหารทั้ง ๒ กองทัพจะอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ยและค่อย ๆ เดินทัพด้วยอัตรา ๑๒ กิโลเมตรต่อวันเมื่อเทียบกับ ๔๘ กิโลเมตรต่อวันเมื่อตอนถอยทัพ แต่ก็สามารถยึดพื้นที่ตอนกลางไว้ได้ กองทัพฝรั่งเศสสามารถเข้าควบคุมพื้นที่จากปารีสถึงแวร์เดิง (Verdun) ทำให้ด้านหลังของกองทัพที่ ๑ เปิดกว้างสำหรับการโจมตี ขณะที่กองทัพที่ ๒ ก็ถูกล้อมจากปีกขวา ปีกซ้าย และส่วนหน้าทั้งหมดกองทัพเยอรมันจึงเริ่มเห็นความเสียเปรียบของฝ่ายตนเป็นครั้งแรก
     ระหว่างวันที่ ๗-๙ กันยายน ฝรั่งเศสเร่งบุกโจมตีกองทัพเยอรมันในทุก ๆ แนวรบจนต้องมีการเสริมกำลังพลในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ความรับผิดชอบของกองทัพที่ ๖ ของฝรั่งเศสภายใต้การนำของนายพลมีเชล-โชแซฟ โมนูรี (Michel-Joseph Maunoury) ซึ่งภารกิจหลักคือการขับไล่กองทัพที่ ๑ ของเยอรมันออกจากพื้นที่ ขณะนั้นการรบอยู่ห่างจากกรุงปารีสออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๖๐ กิโลเมตร นายพลโมนูรีต้องการกำลังเสริมจำนวน ๖,๐๐๐ คนโดยเร็วที่สุดทำให้เกิดปฏิบัติการที่แปลกประหลาดในประวัติศาสตร์การรบ นั่นคือ ฝ่ายลำเลียงพลต้องใช้รถแท็กซี่ที่หาได้ในกรุงปารีสจำนวน ๖๐๐ คัน แต่ละคันต้องลำเลียงทหารเที่ยวละ ๕ คนจำนวน ๒ เที่ยว จึงสามารถส่งทหารไป


แนวหน้าได้ตามเวลาที่กำหนด นอกจากนั้น กองทัพฝรั่งเศสในแนวรบด้านอื่น ๆ ก็ปฏิบัติการรุกแบบสายฟ้าแลบอย่างได้ผล กองทัพเยอรมันเริ่มระส่ำระสาย หลังจากทบทวนรายงานของตัวแทนคณะเสนาธิการทหารที่ส่งมาสังเกตการณ์แนวรบด้านตะวันตก นายพลมอลท์เคอจึงสั่งให้กองทัพทั้ง ๒ กองทัพของเยอรมนีถอยเป็นครั้งแรกในวันที่ ๑๐ กันยายน และภายในวันที่ ๑๔ กันยายน กองทัพที่ ๑ ก็ได้ถอยข้ามแม่น้ำมาร์นไปตั้งมั่นอยู่ตามแนวแม่น้ำเอนเหนือขึ้นไป ขณะที่กองทัพที่ ๒ ก็ถอยไปตั้งมั่นอยู่ใกล้ชายแดนตะวันออก โดยได้ขุดหลุมเป็นแนวยาวพร้อมติดตั้งปืนใหญ่เป็นระยะ ๆ กำลังพลทั้งหมดต้องอาศัยหลุมเป็นแนวรบพร้อมกับแนวป้องกัน เป็นการแสดงท่าทีว่ากองทัพจะปักหลักสู้ ณ ที่นั้นและจะไม่ถอยอีกต่อไป
     ยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑ สะกัดกั้นการรุกแบบสายฟ้าแลบและยุติความใฝ่ฝันของเยอรมนีที่จะทำลายล้างฝรั่งเศสให้สิ้นซากภายในระยะเวลาอันสั้นที่สุด ขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็ทำได้เพียงแค่หยุดยั้งการรุกรานของกองทัพเยอรมันได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่อาจขับไล่กองทัพเยอรมันออกไปจากประเทศได้ อีกทั้งการรบครั้งนี้ก็นำความสูญเสียมาให้แก่ทั้ง ๒ ฝ่าย ฝรั่งเศสสูญเสียกำลังพลประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน อังกฤษ ๑๒,๗๓๓ คน และเยอรมนีแม้จะไม่มีการรายงานการสูญเสียอย่างเป็นทางการก็คาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกับฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ในด้านยุทธวิธีแม้ยุทธการแม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑ จะนำผลมาสู่ทั้ง ๒ ฝ่ายก้ำกึ่งกัน แต่ก็ได้เปลี่ยนโชคชะตาของประเทศคู่สงครามในระยะเวลาเพียงเดือนเศษ เยอรมนีซึ่งเห็นได้ชัดว่าจะประสบชัยชนะอย่างแน่นอน ก็ดูจะไม่ประสบผล สำหรับฝรั่งเศสซึ่งเคยเพลี่ยงพล้ำมาก่อนก็กลับประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จอมพล ชอฟร์กลายเป็นวีรบุรุษชั่วข้ามคืนขณะที่นายพลมอลท์เคอถูกปลดจากตำแหน่งหัวหน้า คณะเสนาธิการในทันที
     ในช่วงท้ายของยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑ กองทัพเยอรมันเริ่มขุดสนามเพลาะซึ่งเป็นการเริ่มต้นสงครามในลักษณะใหม่ที่พลิกความคาดหมายของทุกฝ่าย เป็นสงครามสนามเพลาะ (trench warfare) ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของกำลังพลอย่างที่ ผ่านมาอีกต่อไป ในทางตรงข้ามการรบเกือบจะหยุดนิ่งอยู่กับที่เพราะการตอบโต้กระทำจากสนามเพลาะและตรึงกำลังกันเป็นเวลานาน หน่วยส่งกำลังบำรุงและอาวุธยุทธปัจจัยต้องทำงานหนักกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในแนวรบแต่ละแห่ง ยุทธการที่แม่น้ำมาร์นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามที่กินเวลายาวนานถึง ๔ ปีและมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม.



คำตั้ง
Marne, First Battle of
คำเทียบ
ยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑
คำสำคัญ
- โมนูรี, มีเชล-โชแซฟ
- มหาอำนาจกลาง
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑
- ยุทธการตามแนวชายแดน
- คลุค, อะเล็กซานเดอร์ ฟอน
- คิชเนอร์, ลอร์ดฮอเรชีโอ เฮอร์เบิร์ต
- ซาร์, แคว้น
- ชลีฟเฟิน, อัลเฟรด ฟอน, เคานท์
- ลอร์แรน, แคว้น
- มหาอำนาจสัมพันธมิตร
- แผนชลีฟเฟิน
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- อูร์ก, แม่น้ำ
- เฟรนช์, เซอร์จอห์น
- แซน, แม่น้ำ
- บือโลว์, คาร์ล ฟอน
- บอร์โด, เมือง
- ชอฟร์, โชแซฟ ชาก-เซแซร์
- แวร์เดิง, เมือง
- อัลซาซ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf